ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว ต.น้ำเชี่ยว อ.แหลมงอบ จ.ตราด ชุมชน 2 ศาสนา 3 วัฒนธรรม ที่มีชาวพุทธ ชาวมุสลิม และชาวไทยเชื้อสายจีน อาศัยอยู่ร่วมกันมานับร้อยปี ตั้งแต่ชาวมุสลิม (แขกจาม) อพยพยกครัวมาจากเขมร มาตั้งรกรากในพื้นที่แห่งนี้ในสมัยรัชกาลที่ 3 นับแต่นั้นมาชาวพุทธและชาวอิสลาม ก็อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน ในชุมชนนี้บ้านชาวพุทธและชาวอิสลามตั้งอยู่ปะปนกัน โดยไม่ได้แบ่งแยก
ชุมชน 2 ศาสนา 3 วัฒนธรรม
ชาวบ้านบ้านน้ำเชี่ยวมีวิถีชีวิตเกี่ยวข้องอยู่กับการทำประมง เพราะเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่คลองน้ำเชี่ยว ที่เป็นคลองออกไปสู่ทะเลอ่าวไทย บริเวณโดยรอบจึงมีป่าชายเลนหนาแน่น ชาวมุสลิมมักจะมีอาชีพประมงพื้นบ้าน ออกเรือหาปลาในคลอง และในอ่าวไทย ส่วนชาวพุทธมักจะมีอาชีพทำสวนผลไม้ หรือสวนยาง
ด้วยความโดดเด่นที่มีวัฒนธรรม 2 ศาสนาอยู่ร่วมกัน และมีวิถีชีวิตที่อิงอาศัยอยู่กับธรรมชาติในคลองน้ำเชี่ยว ป่าชายเลน และทะเลอ่าวไทย ทำให้พื้นที่บ้านน้ำเชี่ยวริเริ่มทำการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 ผ่านประสบการณ์ล้มลุกคลุกคลาน และพัฒนาจนก่อตั้งเป็นกลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านน้ำเชี่ยว ที่ได้รับรางวัลการันตีคุณภาพหลายรางวัล
การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ VS การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
ชาวบ้านเริ่มทำโฮมสเตย์และการท่องเที่ยวมาตั้งแต่ปี 2547 การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งริเริ่มขึ้นมา ได้ช่วยพลิกฟื้นทรัพยากรธรรมชาติในเขตบ้านน้ำเชี่ยวให้ดีขึ้น จากที่น้ำในคลองเริ่มเน่าเหม็นส่งกลิ่น เมื่อนักท่องเที่ยวเริ่มมาเยือน ชาวบ้านเริ่มเห็นคุณค่าของคลอง ช่วยกันทำทุกวิถีทางฟื้นฟูจนน้ำในคลองกลับมาใสสะอาดดังเดิม สัตว์น้ำในคลองที่หายไปเพราะน้ำเน่าก็เริ่มกลับมา ชาวประมงก็หาปลาจับสัตว์น้ำได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องออกทะเลไปไกลเหมือนช่วงที่น้ำในคลองเน่าเหม็น
การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ยังช่วยให้ชาวบ้านเห็นคุณค่าของป่าชายเลน ร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ และจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนขึ้นมา เพื่อรักษาป่าชายเลนจากการลักลอบตัดไม้ ส่วนชาวบ้านที่เคยลักลอบตัดไม้ในป่าชายเลนก็หันกลับมาร่วมมือกับกลุ่มอนุรักษ์ด้วย จนป่าชายเลนที่บ้านน้ำเชี่ยวได้ชื่อว่าเป็นป่าชายเลนที่สมบูรณ์ที่สุดอันดับต้นๆ ของประเทศ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://program.thaipbs.or.th/documentaryprogram/article310311.ece?episodeID=689260