บ้านเกาะหมาก |
เกาะหมากโคโค่เคปรีสอร์ท |
เกาะหมากรีสอร์ท |
มากะธานีรีสอร์ท |
ฮานอยเฮ้าส์ เกาะหมาก |
Artist's Place, TRAT |
พบทะเลรีสอร์ท Meet The Sea |
ประวัติศาสตร์เกาะหมาก (History) เกาะหมาก เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญของจังหวัดตราด ชื่อเกาะหมากได้มาจากคำพ้องเสียงของคำว่า ”หมากป่า” ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งที่ในอดีตมีอยู่เป็นจำนวนมากบนเกาะ เกาะหมากมีความเกี่ยวโยงกับเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติไทย เนื่องด้วยตั้งอยู่ในทะเลตราดฝั่งอ่าวไทย ครั้งหนึ่งในยุคล่าอาณานิคม ฝรั่งเศสพยายามที่จะเข้ามายึดดินแดนประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.2436 ตรงกับรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ฝรั่งเศสได้เข้ามายึดเมืองจันทบุรีและเมืองต่างๆ ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ต่อมาในปี พ.ศ.2446 (ร.ศ.122) ไทยได้เสียดินแดนให้แก่ฝรั่งเศสเนื่องจากการตกลงทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศส ทำให้ไทยจำต้องยกดินแดนตั้งแต่ อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี ไปจนถึงเกาะหมาก เกาะกูด และเมืองปัจจันตคีรีเขตร เพื่อแลกเปลี่ยนกับการถอนกองทหารออกจากจันทบุรีและในปี พ.ศ.2449 รัชกาลที่ 5 ทรงตัดสินพระทัยยอมยกดินแดน พระตะบองเสียมราฐ และศรีโสภณ เพื่อแลกเอาจังหวัดตราดและหมู่เกาะต่างๆ คืนมาเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2449
นอกจาก "เกาะหมาก" มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ไทยในยุคการล่าอาณานิคมจากประเทศตะวันตกแล้ว ยังเป็นเกาะหนึ่งในเส้นทางการเสด็จประพาสของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 โดยที่พระองค์ท่านเคยเสด็จถึง 2 ครั้ง และโปรดให้เรือพระที่นั่งจอดบริเวณอ่าวเพื่อประทับแรม เกาะหมากมีพื้น ที่ทั้งหมด 9,500 ไร่ เป็นที่สาธารณะประโยชน์ 500 ไร่ ที่เหลือประมาณ 9,000 ไร่ เป็นสวนยางพาราและมะพร้าวเกือบทั้งหมด ซึ่งมีการบุกเบิกมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ประมาณปี พ.ศ. 2447 ผู้ครอบครองที่ดินส่วนใหญ่เป็นญาติพี่น้องกัน ประกอบด้วย 5 ตระกูลใหญ่ คือ ตะเวทีกุล, วงษ์ศิริ , สุทธิธนกูล , จันทสูตร , และสุขสถิตย์ ทั้ง 5 ตระกูลนี้ต่างรักใคร่กลมเกลียวกันมาหลายชั่วอายุคนจวบจนปัจจุบัน จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า เกาะหมากเป็นเกาะที่มีแต่ความสงบสุข ปลอดภัย และถ้าสังเกตจะเห็นว่าชื่อถนนทุกเส้นบนเกาะหมาก เป็นนามสกุลของบรรพบุรุษในแต่ละตระกูลยึดเป็นอนุสรณ์เพื่ออนุชนรุ่นหลังได้รำลึกถึงบรรพชน"เกาะหมาก" (ข้อมูลอ้างอิง http://www.changtour.net/kohmak.htm)
หลวงพรหมภักดี ต้นตระกูล "ตะเวทีกุล"...ผู้ตั้งรกรากบนเกาะหมากเป็นคนแรก
เนื่องจากเป็นเกาะเดียวที่พื้นที่เกาะทั้งหมดเกือบ 9,000 ไร่ มีเจ้าของเป็นทายาทของ "ตระกูลตะเวทีกุล" เพียงตระกูลเดียวจากอดีตถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลา 100 ปีเศษ ทั้งนี้ นายจักรพรรดิ์ ตะเวทีกุล นายกอบต. เกาะหมากในปัจจุบัน และเป็นเจ้าของเกาะหมากรีสอร์ต ผู้เป็นทายาท รุ่นที่ 4 เล่าว่า หลวงพรหมภักดี (นายเปลี่ยน ตะเวทีกุล) ผู้มีศักดิ์เป็นคุณชวด เป็นผู้เข้ามาครอบครองเกาะหมากเป็นคนแรกเมื่อปี พ.ศ.2447 โดยซื้อจากเจ้าของเดิมชื่อเจ้าสัวเส็ง ปลัดจีนในสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเข้ามาจับจองทำสวนมะพร้าวไว้ในราคา 300 ชั่ง (ชั่งละ 80 บาท ) หลวงพรหมภักดีขณะนั้นเป็นปลัดจีนอยู่ที่ จังหวัดประจันตคีรีเขตร์ (เกาะกง ของกัมพูชาในปัจจุบัน) ขณะนั้นเป็นของไทยอยู่ แรกทีเดียวได้ส่งบุตรชาย 3 คนมาทำสวนมะพร้าวอยู่ก่อน คือ นายอู๋ นายเอิบ และนายอาบ ตะเวทีกุล ต่อมาเมื่อไทยเสียเมืองตราด หมู่เกาะต่างๆ รวมทั้งเมืองประจันตคีรีเขตร์ให้กับฝรั่งเศสเพื่อแลกกับการที่ฝรั่งเศสถอนทหารออกจากเมืองจันทบุรี หลวงพรหมภักดียังคงทำมาค้าขายอยู่ที่เกาะปอ เมืองประจันตคีรีเขตร์ จนกระทั่งอีก 6 ปีต่อมา คือ พ.ศ. 2453 จึงได้อพยพครอบครัวมาตั้งรกรากที่เกาะหมาก ทำสวนมะพร้าวขนาด 3,000 - 4,000 ไร่ และสร้างบ้านเรือนอยู่ที่บริเวณอ่าวสวนใหญ่ซึ่งมีหาดทรายอันสวยงาม มองเห็นเกาะข้างเคียงได้ชัดเจน เรียกกันว่า บ้านสวนใหญ่
หลวงพรหมภักดีได้แต่งงานกับนางมู่ลี่ มีบุตร 7 คน ธิดา 4 คน รวม 11 คน และต่อมาแต่งงานกับนางทิม มีบุตรชายอีก 1 คน เมื่อบุตรสาวโตขึ้นแต่งงานไปใช้นามสกุลของฝ่ายชาย ฝ่ายชายสืบตระกูลตะเวทีกุลมาถึงปัจจุบัน 5 - 6 ช่วงอายุคนแล้ว
สำหรับนายจักรพรรดิ์ ตะเวทีกุล ซึ่งปัจจุบันเป็นนายก อบต.เกาะหมาก เป็นรุ่นที่ 4 บิดาชื่อนายสันต์ ตะเวทีกุล มารดาคือนางเฉลิม ศรีอรุณ ปู่่คือนายอู๋ ตะเวทีกุล บุตรชายคนที่ 5 ของหลวงพรหมภักดี
เมื่อสิ้นหลวงพรหมภักดี ปี พ.ศ. 2458 สวนมะพร้าวและที่ดินทั้งหมดบนเกาะถูกแบ่งเป็นมรดกให้ลูกๆ หลานๆ ทายาทของหลวงพรหมภักดี ซึ่งในยุครุ่นลูกนี้เองได้มีการนำยางพาราเข้ามาปลูกเป็นจำนวนนับ 1,000 ไร่ และมีการสร้างโรงบ่มยางขึ้นภายในบริเวณบ้านสวนใหญ่ ดังนั้น ในปัจจุบันจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าพื้นที่ เกาะหมาก ทั้งหมด 9,500 ไร่ เป็นที่สาธารณประโยชน์ 500 ไร่ ที่เหลือ 9,000 ไร่ ล้วนแต่เป็นของพี่ๆน้องๆในสายตระกูลตะเวทีกุลเพียงตระกูลเดียวเท่านั้น มีบ้างเล็กน้อยที่ขายให้กับคนต่างถิ่นที่มาลงทุนสร้างรีสอร์ทแต่เป็นส่วนน้อยนิด นับจากปี พ.ศ 2447 ที่หลวงพรหมภักดีได้เป็นเจ้าของเกาะหมาก มาถึงทายาทในปัจจุบันปี พ.ศ. 2552 รวมระยะเวลา 105 ปี เมื่อวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2547 ที่ผ่านมานี้ กำนันจักรพรรดิ์ ตะเวทีกุล ร่วมกับญาติๆ ทั้งหมดได้ร่วมกันจัดงานเฉลิมฉลองรำลึกถึงหลวงพรหมภักดี และเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวบนเกาะหมาก โดยจะถือเอางานเฉลิมฉลองนี้เป็นเอกลักษณ์ของชาวเกาะหมาก จัดงานเป็นประจำทุกปี เพราะนับวันการท่องเที่ยวจะเติบโตเป็นเศรษฐกิจที่สำคัญบนเกาะหมาก อาจจะทำรายได้ให้ชาวบ้านบนเกาะหมากมากกว่าการทำอาชีพเกษตรกรรม สวนมะพร้าว สวนยางพารา
(ข้อมูลอ้างอิง http://www.ontotour.com )
|